กลุ่มเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก
1. ภูมิภาคตะวันออก (ในที่นี้ หมายถึง กลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้) มีขนาดของเศรษฐกิจซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2020 อาจจะมีขนาดใหญ่ถึงประมาณ 40% ของโลก เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็มีอยู่ถึงครึ่งหนึ่งของโลก
ในเอเชียตะวันออกนั้น ประชากรรวมกันก็ประมาณครึ่งหนึ่งของโลก ก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เอเชียถูกคาดหมายว่าจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมา จึงทำให้เอเชียถูกลดบทบาทลงไป
ตอนนี้ จึงอยากจะมองดูว่าประวัติศาสตร์ของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกนั้น เป็นอย่างไร ในสมัยสงครามเย็นนั้น เอเชียก็แตกแยกออกเป็น 2 ค่าย จึงรวมกันไม่ได้ มาเริ่มกันจริง ๆ จัง ๆ ในช่วงปลายสงครามเย็น คือในปี 1989 มีข้อเสนอที่สำคัญ 2 ข้อเสนอด้วยกัน หนึ่งเป็นข้อเสนอของออสเตรเลียที่เราเรียกกันว่า APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ APEC กำลังถูกก่อตั้งขึ้นนั้น ประเทศมาเลเซียไม่เห็นด้วย และอยากให้เอเชียรวมกลุ่มกันเฉพาะในเอเชียเท่านั้น ดังนั้น มาเลเซียจึงเสนอ East Asia Economic Caucus (EAEC) อย่างไรก็ตาม อเมริกาได้คัดค้านอย่างเต็มที่ และในที่สุด EAEC ก็ไปไม่รอด ญี่ปุ่นไม่กล้าที่จะไปขวางอเมริกา EAEC ตกไป และ APEC ก็เกิดขึ้นมา
หลังจากนั้น ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 จึงเป็นยุคทองของ APEC ซึ่งโดดเด่นมาโดยตลอด และตั้งแต่ปี 1993 อเมริกาก็ครอบงำ APEC และหลังจากที่มีการจัดการประชุมสุดยอดที่ Seattle ในปี 1993 ประเด็นการหารือใน APEC ก็เป็นประเด็นเรื่องการเปิดเสรีทางการค้าเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่อเมริกาให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในตอนนั้น อเมริกาผลักดันให้มีการจัดตั้งเป้าหมายที่จะให้ APEC เป็นเขตการค้าเสรีในปี 2010/2020
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมา ทุกอย่างก็หยุดชะงัก บทเรียนสำคัญของวิกฤติเศรษฐกิจคือ การที่เอเชียไม่มีกลไกที่จะช่วยเหลือประเทศเอเชียด้วยกันเอง
เราคงจำกันได้ดีว่าประเทศไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ต้องไปกู้เงินจาก IMF ต้องไปหาอเมริกา ความรู้สึกของเอเชียในตอนนั้นชัดเจนมากขึ้นว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกนั้น อยู่ในเรือลำเดียวกัน เมื่อประเทศไทยล้ม ก็ทำให้ประเทศอื่นล้มตามไปด้วย เพราะฉะนั้น จึงเกิดความรู้สึกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมมือกัน
หลังจากนั้น ก็มีปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้ประเทศในเอเชียหันมาร่วมมือกันมากขึ้น คือ การประชุม WTO ที่ Seattle ล้มเหลว ช่วงปลายปี 1990 APEC หลังปี 1997 ก็ประสบกับความล้มเหลวในการเจรจา ไม่มีอะไรคืบหน้าในเรื่องของการเปิดเสรีการค้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ ยุโรปก็เร่งกระบวนการการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค อเมริกาเองก็พยายามจะจัดตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือขึ้นมา รวมทั้งเขตการค้าเสรีทั้งอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้
2. อาเซียนปัจจัยเหล่านี้ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียนในปลายปี 1999 มีข้อเสนอที่จะให้มีความร่วมมือกันระหว่างอาเซียนกับอีก 3 ประเทศในเอเชีย นั่นคือจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีการประชุมสุดยอดครั้งแรกในกรอบของอาเซียน ขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 1999 และมีแถลงการณ์ร่วมที่เกี่ยวกับความร่วมมือเอเชียตะวันออก ในแถลงการณ์ดังกล่าวมีมาตรการที่จะร่วมมือกันในหลายด้านด้วยกันที่สำคัญคือ ความร่วมมือทางด้านการเงิน
ต่อมา ก็มีการประชุมรัฐมนตรีคลังในกรอบอาเซียน และมีข้อตกลง "Chiang Mai Initiative" เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นได้พยายามที่จะจัดตั้ง "Asian Monetary Fund" (กองทุนการเงินแห่งเอเชีย) ขึ้นมา เพื่อที่จะใช้แทน IMF ประเทศในเอเชียหวังว่า ถ้าเกิดวิกฤติรอบ 2 ขึ้นมา เราจะได้ไม่ต้องไปง้อ IMF ไม่ต้องโดน IMF สั่ง ถ้าเป็นเงินของกองทุนของเอเชียเงื่อนไขต่าง ๆ น่าจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม อเมริกาก็คัดค้านอย่างเต็มที่เพราะกลัวว่า AMF จะมาแย่งบทบาทของ IMF ซึ่งสหรัฐครอบงำอยู่ ข้อเสนอของญี่ปุ่นจึงตกไป
นอกจากนั้น ก็มีข้อเสนอว่า ในอนาคตน่าจะมีความร่วมมือกันในด้านระบบอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ รวมไปถึงข้อเสนอเงินสกุลของเอเชีย มีการมองว่า เอเชียจะสามารถเป็นแบบสหภาพยุโรปได้หรือไม่ จะเป็นสหภาพทางการเงินแบบยุโรปได้หรือไม่ และยังมีข้อเสนอที่จะให้เอเชียตะวันออกเป็นเขตการค้าเสรี หรือเรียกว่า "East Asia Free Trade Area"
3. ข้อเสนอ "ชุมชนเอเชียตะวันออก"
ข้อเสนอเหล่านี้ก็มีการพูดถึงกันมากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญคือว่า หลังจากนั้นปี 1999 เป็นต้นมา ไม่ได้มีข้อเสนอที่อยู่ในกรอบของอาเซียน เท่านั้น เกาหลีใต้พยายามผลักดันให้มีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ขึ้นมาที่จะอยู่นอกกรอบอาเซียน และให้มีการรวมกลุ่มกันในลักษณะ "East Asian Community" หรือชุมชนเอเชียตะวันออก ซึ่งข้อเสนอนี้จะขยายออกไปนอกกรอบของอาเซียน +3 จะเป็น "เอเชียตะวันออก" ไปเลย
4. เขตการค้าเสรีจีน - อาเซียน
นอกจากนั้น ปีที่แล้ว จีนกับอาเซียนมีข้อตกลงที่จะจัดทำเขตการค้าเสรีภายในระยะเวลา 10 ปี ความตกลงนี้ถ้าเป็นจริงขึ้นมาได้ ก็จะมีประโยชน์เพราะว่าอาเซียนกับจีนจะมีประชากรรวมกันถึง 1.7 พันล้านคน GDP จะถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก
แต่ปัญหาก็คือว่า การที่อาเซียนจะมารวมกับจีนเป็นเขตการค้าเสรีก็จะไม่ครบ ญี่ปุ่นจะอยู่ตรงไหน เกาหลีจะอยู่ตรงไหน จะเป็นแค่อาเซียนกับจีนเท่านั้นหรือ คล้ายๆ จะขาดเสี้ยวไป ในแง่ของความร่วมมือในกรอบใหญ่ที่จะเป็นอาเซียน
แนวโน้มขณะนี้แต่ละฝ่ายพยายามที่จะเสนอข้อเสนอของตัวเองแล้วกลายเป็นว่า จะตีกันไปใหญ่ ข้อเสนอมากเกินไป และทำให้วุ่นวายสับสนอยู่ในขณะนี้
5. ข้อเสนอของญี่ปุ่น
ขณะที่จีนกับอาเซียนกำลังจะมีเขตการค้าเสรี ญี่ปุ่นก็ตกอยู่ในสภาพเพลี่ยงพล้ำจีน จีนกับอาเซียนตกลงกันได้โดยไม่มีญี่ปุ่น ญี่ปุ่นโดยนายกรัฐมนตรีโคอิซูมิ ตอนมาเยือนเอเชียเมื่อเดือนที่แล้ว จึงต้องพยายามเรียกบทบาทของตัวเองกลับคืนมา บทบาทของการเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ โดยมีการจัดทำเขตการค้าเสรีกับสิงคโปร์ และมีข้อเสนอหลายข้อเสนอด้วยกัน
ข้อเสนอหนึ่ง คือ "Initiative for Japan - ASEAN Comprehensive Partnership" เป็นข้อเสนอที่ญี่ปุ่นจะร่วมมือกับอาเซียน ที่จะเป็นหุ้นส่วนทางด้านเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์แบบ โดยญี่ปุ่นบอกว่า ญี่ปุ่นจะใช้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างญี่ปุ่นและสิงคโปร์เป็นแม่แบบในการเจรจากับประเทศอื่น ๆ ต่อไป
นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังเสนออีกว่า จะให้มีเวทีที่เรียกว่า "Initiative for Development in East Asia" ขึ้นมาอีกเวทีหนึ่ง โดยบอกว่า เวทีนี้จะเป็นเวทีที่จะหารือในเรื่องของการพัฒนาการเศรษฐกิจ รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่สำคัญคือว่า ญี่ปุ่นได้ระบุว่า ประเทศที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในเวทีดังกล่าวควรจะมีสหรัฐ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งจีนกับเกาหลีใต้ด้วย ญี่ปุ่นมองว่า สมาชิกแกนหลักของชุมชนเอเชียตะวันออก จะต้องมีออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อยู่ด้วย
ผมเดาว่า ญี่ปุ่นคงมองว่า ถ้าจะปล่อยให้เป็นอาเซียน จีนจะครอบงำแน่ โดยลำพังแล้ว อาเซียนเองไม่สามารถที่จะไปคานอำนาจกับจีนได้ ญี่ปุ่นเองก็รู้สึกว่าลำบากขึ้นทุกวัน ผมมองว่า ยุทธศาสตร์ล่าสุดของญี่ปุ่น คือ การที่จะดึงเอาประเทศนอกภูมิภาคเข้ามาเพื่อที่จะถ่วงดุลอำนาจกับจีน ไม่ให้จีนครอบงำภูมิภาคนี้ โดยจะดึงเอาออสเตรเลียเข้ามา ดึงเอาสหรัฐ เข้ามา
โคอิซูมิพูดเลยไปถึงว่า ชุมชนเอเชียไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะประเทศในเอเชียเท่านั้น แต่ควรจะมีสหรัฐ ควรจะมองไปถึงเอเชียใต้ ซึ่งก็หมายถึงว่าควรจะมีอินเดียเข้ามาด้วย ควรจะรวมถึง APEC เพราะ APEC ก็เป็นกรอบใหญ่ที่มีหลายประเทศรวมไปถึง ASEM ด้วย จากข้อเสนอล่าสุดทำให้ผมคิดว่า ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในครั้งนี้คือ การดึงเอาประเทศนอกภูมิภาค และกรอบความร่วมมืออื่นๆ เช่น APEC และ ASEM เข้ามาเพื่อที่จะถ่วงดุลอำนาจกับจีนซึ่งกำลังจะยิ่งใหญ่ขึ้นมาเรื่อย ๆ
6. ข้อเสนอของไทย
แต่ข้อเสนอยังไม่หมดเท่านั้น ไทยเราเองก็เสนอบ้าง เราเสนอที่จะให้มีเวทีที่เรียกว่า "Asia Cooperation Dialogue" หรือ ACD โดยไทยพยายามที่จะเป็นตัวเชื่อมเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเข้าด้วยกัน ACD จะเป็นเวทีที่จะมาคุยกันแบบหลวมๆ และจะสนับสนุนกรอบที่มีอยู่แล้ว และจะร่วมมือกันในการสร้างสมรรถนะของภูมิภาคให้แข็งแกร่งขึ้น และจะเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ
นอกจากนั้น ในตอนที่มีการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่บรูไน ไทยก็พยายามผลักดันให้มีกรอบอาเซียน+4 คือจะดึงเอาอินเดียเข้ามาอีก
1 ประเทศในกรอบอาเซียน แต่ข้อเสนอของไทยเราก็ไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ข้อเสนอจึงตกไป
7.อนาคตของกลุ่มเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก
ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวถึง ข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับการรวมกลุ่ม ทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก แต่ประเด็นที่สำคัญ ที่ต้องขบคิด คือ ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น อาเซียนAPEC ข้อเสนอของเกาหลีใต้ ข้อเสนอของไทย ข้อเสนอเขตการค้าเสรี อาเซียน-จีน และข้อเสนอของญี่ปุ่น ที่มีหลายข้อเสนอด้วยกัน ข้อเสนอเหล่านี้ จะเสริมหรือขัดแย้งกัน อันนี้เป็นประเด็นที่เรา จะต้องขบคิดกันให้ดี
อีกประเด็นหนึ่ง คือ เรื่องของสมาชิกในชุมชนเอเชียที่เราจะสร้างขึ้นมา ปัญหาสำคัญ คือ ใครควรจะอยู่ข้างใน ใครควรจะอยู่ข้างนอก ควรจะจำกัดวงอยู่แค่ไหน วงขนาดนี้ที่เรากำลังมีอยู่ ก็คือ อาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่ว่าล่าสุด ญี่ปุ่นและไทยกำลังจะขยายวง โดยการเอาออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐ เอเชียใต้ และอินเดีย เข้ามา
อนาคตของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ จะเป็นไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เหล่านี้
7.1 ประการแรก คือ เราคงจะต้องตอบคำถามอันนี้ และก็ควรจะต้องมาแก้ปัญหาตรงนี้ว่า ขณะนี้ มีข้อเสนอหลายข้อเสนอ ซึ่งจะเสริม ขัดแย้ง หรือว่าจะทำลายล้างกัน ผมมีความเห็นว่า กรอบของอาเซียน น่าจะเป็นแกนหลัก แต่ขณะนี้มีข้อเสนออื่นๆ เข้ามาทำให้สับสน ซึ่งผมก็หวังว่า ข้อเสนอเหล่านี้คงจะเสริมกัน เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ในอนาคตอาจจะต้องดึงเอาญี่ปุ่นเข้ามา เกาหลีเข้ามา ก็จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก ซึ่งก็ยังอยู่ในกรอบอาเซียนได้
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของญี่ปุ่นดูค่อนข้างจะสับสน ทำให้เห็นจุดยืนของญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นคงจะไม่พอใจนักกับกรอบอาเซียน ญี่ปุ่นคงจะมองแล้วว่า ถ้าปล่อยให้เป็นอาเซียน ไปเรื่อยๆ จีนก็จะโดดเด่นขึ้นมา และจะครอบงำกรอบนี้ และญี่ปุ่นก็จะอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ และไม่สามารถมาคานอำนาจจีนได้ เพราะฉะนั้น ญี่ปุ่นก็พยายามที่จะขยายกรอบให้ใหญ่ขึ้น
ขณะเดียวกัน ถ้าเราจะมองจุดยืนของไทยเราเอง ก็น่าสนใจเหมือนกัน ผมมองว่าจุดยืนของไทยอาจจะมีแนวคิดคล้ายๆ ญี่ปุ่น ที่พยายามดึงเอาอินเดียเข้ามาในกรอบของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น Asian Cooperation dialogue ก็ดี อาเซียน ก็ดี เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นปัญหาที่เราจะต้องดูกันต่อไปว่า ข้อเสนอเหล่านี้จะเสริมหรือขัดกันอย่างไร ก็เป็นโจทย์ใหญ่ว่า เราจะรวมเอาข้อเสนอต่างๆ รวมเป็นเนื้อเดียวกันอย่างไรเพื่อให้เสริมกัน
7.2 นอกจากปัจจัยที่ผมได้กล่าวไปแล้วยังมีปัจจัยอีกหลายตัวที่จะกำหนดว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเอเชียจะสำเร็จมากน้อยเพียงใด เอเชียจะกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีพลังที่จะไปต่อสู้กับยุโรป กับอเมริกาได้อย่างไรแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้ ซึ่งก็คือ ประเทศในเอเชียยังมีความรู้สึกของการเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ยังมีความรู้สึกว่าแข่งกันอยู่ ตรงนี้เป็นอุปสรรคอยู่
7.3 ปัจจัยอีกประการหนึ่ง คือ ความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มีประเทศที่รวยเกือบที่สุดในโลกและประเทศที่จนเกือบที่สุดในโลก เพราะฉะนั้น รวมตัวกันลำบาก เปรียบเทียบกับสหภาพยุโรป ที่ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ต่างกันมากขนาดนี้
7.4 ปัจจัยต่อไปเป็นปัจจัยทางด้านการเมือง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ตราบใดก็ตามที่จีนและญี่ปุ่นยังมีความรู้สึกว่าเป็นคู่แข่งกัน ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองกันอยู่ ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้เอเชียตะวันออกไม่สามารถรวมกันได้อย่างสนิทใจ เราเห็นชัดเจนเมื่อปีที่แล้ว ที่ญี่ปุ่นกับจีนแข่งกัน จีนพยายามทำแต้มนำญี่ปุ่น โดยมีเขตการค้าเสรีกับอาเซียนก่อน ญี่ปุ่นก็พยายามแก้ลำจีน โดยการเสนอข้อเสนอเต็มไปหมด
เราอาจเปรียบเทียบว่า ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น ก็เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีที่เคยขัดแย้งกัน ทำให้เกิดสงครามโลก แต่หลังสงครามฝรั่งเศสกับเยอรมนีเข้ากันได้ จึงทำให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจในยุโรปประสบความสำเร็จ
7.5 ต่อมา เป็นบทบาทและท่าทีของอเมริกา ซึ่งมีความสำคัญมาก การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ในเอเชียตะวันออกจะไปได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า อเมริกาเห็นด้วยมากน้อยแค่ไหน ถ้าอเมริกาเห็นว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ในเอเชียตะวันออกจะเป็นภัย จะมาท้าทายอำนาจ และบทบาทของอเมริกา อเมริกาก็จะต่อต้าน
และถ้าอเมริกาต่อต้านก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะว่าประเทศในเอเชียตะวันออก หลายประเทศยังต้องพึ่งพิงอเมริกา ด้านเศรษฐกิจ เช่น ในเรื่องของตลาด ประเทศไทยเราตลาดที่ใหญ่ที่สุด คือ ตลาดอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ก็เช่นกัน หลายๆ ประเทศ ยังต้องพึ่งพาสหรัฐ ถ้าอเมริกายังมีท่าทีไม่เห็นด้วย ประเทศในเอเชียก็จะรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ
7.6 อุปสรรคต่อไปเป็นปัญหาภายในอาเซียนด้วยกันเอง หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ อาเซียนก็แตก มีปัญหาระหว่างกันมาก มีปัญหาความแตกต่างกันของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ AFTA เองก็มีปัญหา นับประสาอะไรจะไปรวมในระดับที่ใหญ่กว่า เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังแก้ปัญหาภายในอาเซียนไม่ได้ ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่ใหญ่ขึ้น
7.7 ปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่ง เป็นเรื่องของผู้นำ ใครจะเป็นผู้นำการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในเอเชีย ขณะนี้ในเอเชีย ในความรู้สึกลึกๆ เรายังไม่มีการยอมรับกันในการเป็นผู้นำ จีนก็ไม่ยอมรับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็ไม่ยอมรับจีน แม้กระทั่งอาเซียนเอง ลึกๆ แล้ว ก็ไม่ยอมญี่ปุ่นหรือจีน ในยุโรปค่อนข้างชัดเจนว่า ฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นผู้นำการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ในทวีปอเมริกายิ่งชัดเจนใหญ่ว่า อเมริกาเป็นผู้นำในการรวมกลุ่ม NAFTA แคนาดา และเม็กซิโก ก็ถูกดึงเข้ามา ในระยะต่อไปก็จะมี FTAA ขึ้นมา เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 ทวีปเลย
เมื่อมองกลับมาที่เอเชีย เรามีปัญหาตรงนี้ แต่อาจจะเป็นไปได้ อาจจะไม่จำเป็นว่าเราจะต้องมีผู้นำ เอาแค่ผู้ประสานงานก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น อาเซียนก็อาจจะรับบทเป็นผู้ประสานงานก็อาจจะแก้ปัญหาไปได้ แต่ขณะนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่
7.8 นอกจากนั้น ถ้าเราลองเอากรณีซึ่งประสบผลสำเร็จในแง่ของการรวมตัวทางเศรษฐกิจ คือ สหภาพยุโรป ถ้าเราเอามาเปรียบเทียบกันแล้ว การที่สหภาพยุโรปประสบความสำเร็จได้ เพราะปัจจัยในเรื่องที่มีภัยคุกคามจากข้างนอก คือ ในสมัยสงครามเย็นมีภัยคอมมิวนิสต์ มีรัสเซีย ซึ่งค่อนข้างจะเป็นภัยที่น่ากลัวที่ทำให้ยุโรปรวมตัวกันได้อย่างเร็วขึ้น แต่ว่าในเอเชีย เราไม่มีปัจจัยตรงนี้ ที่จะมาเป็นตัวเร่งกระบวนการรวมตัว เราไม่มีภัยที่ชัดเจนจากภายนอกเหมือนยุโรป
7.9 หรือแม้กระทั่งปัจจัยทางด้านการเมือง แรงผลักดันทางด้านการเมือง ยุโรปมีการรวมตัวกันได้ก็เพราะว่ากลัวจะเกิดสงครามโลกขึ้นมาอีก คิดว่า การรวมตัวทางเศรษฐกิจ จะป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกขึ้นมา แต่ว่าในเอเชียขณะนี้ ความรู้สึกกลัวอย่างนี้ไม่มี
7.10 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยในด้านระบบการเมือง ยุโรปรวมกันได้ เพราะมีระบบการเมืองเหมือนกัน คือ ประชาธิปไตย แต่ว่าในเอเชีย เรายังมีความหลากหลายมาก เป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่ง
7.11 ในเรื่องความแตกต่างทางอารยธรรม ยุโรปนั้นเป็นตะวันตกอันเดียวกัน คือ อารยธรรมตะวันตก แต่ในเอเชียนั้นมีหลายอารยธรรม มีทั้งอิสลาม จีน พุทธ ฯลฯ หลากหลายทำให้รวมกันลำบาก
7.12 การรวมตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียนั้น จะถูกเร่งเร็วมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการรวมตัวในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย ว่าเขาไปกันมากน้อยแค่ไหน ถ้าในภูมิภาคอื่นมีการรวมตัวหนักขึ้น ลึกขึ้น ก็จะเป็นแรงกดดันให้เอเชียรวมตัวกันมากขึ้น
7.13 สุดท้าย ก็คือ ใน WTO ถ้าการเจรจาใน WTO ประสบความล้มเหลวในรอบโดฮา ก็จะกระตุ้นให้เอเชียรวมตัวกันมากขึ้นด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น